Home / Family Violence Provisions / Partner visa & Domestic and family violence ความรุนแรงในครอบครัว และวีซ่าคู่ครอง
single

Partner visa & Domestic and family violence ความรุนแรงในครอบครัว และวีซ่าคู่ครอง

.
 
เมื่อไม่นานมานี้คนเขียนได้แจ้งข่าวดีให้กับลูกความคนนึง ตอนน้องติดต่อมาหาคนเขียน น้องถือวีซ่าคู่ครองแบบชั่วคราว (stage 1 – Temporary Partner visa) แต่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว (ภาษากฏหมายคือ Family violence หรือ Domestic violence)
.
น้องบอกว่าไม่ไหวแล้วค่ะพี่ รอมา 23 เดือน กำลังจะใกล้ยื่นเอกสารวีซ่าคู่ครองแบบถาวร (Stage 2 – Permanent Partner visa) แต่ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงทำร้ายทรัพย์สินด้วย ทนจนทนไม่ไหวแล้ว …. ว่าแล้วถามว่า ‘เอะ…หรือหนูควรจะทน เพราะใกล้ได้พีอาร์แล้ว’
.

ในมุมมองของคนเขียนนะคะ ต่อให้รอมา 23 เดือน ก็ไม่ควรทนอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้อีกต่อไป ใช่ค่ะ อีก 1 เดือนก็จะถึงเวลายื่นเอกสารสำหรับ stage 2 – Permanent Partner visa แต่ก็ไม่ใช่ว่ายื่นเอกสารปุ๊บจะได้วีซ่าปั๊บ เดี๋ยวนี้รอผลกันร่วมปี เผลอๆเลยปีด้วย วันนี้อาจจะแค่เจ็บตัว วันหน้าอาจจะเสียโฉม พิการ ถึงตาย ไม่มีใครตอบได้ คุ้มไหมกับการได้พีอาร์ 

.

ป.ล. เคสวีซ่าคู่ครองที่ความสัมพันธ์สิ้นสุดลงระหว่างทาง มี 3 กรณีด้วยกันที่ผู้สมัครอาจจะได้พีอาร์

  1. สปอนเซอร์ตาย
  2. มีลูกด้วยกัน
  3. มีความรุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัว จะเป็นทางร่างกายหรือทางจิตใจก็ได้ แต่ทางร่างกายอาจจะหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้ง่ายกว่า

.

เคสนี้สปอนเซอร์ก็ไม่ได้ตาย ลูกก็ไม่มี แต่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ถือเป็นเคสที่มีความเป็นไปได้

.

เคสนี้น้องไม่เคยแจ้งตำรวจ ไม่เคยไปหาหมอ จิตแพทย์ หรือนักสังคมสงเคราะห์ หลักฐานความรุนแรงที่น้องมี คือรูป 3 ใบ       (3 ใบเท่านั้น!!!!) โชว์รอยถลอกที่เกิดกับน้อง 1 ใบ และการบาดเจ็บของสปอนเซอร์ที่ทำร้ายน้อง 2 ใบ และข้อความโต้ตอบกันผ่านไลน์ ซึ่งก็แรงด้วยกันทั้งคู่ สรุปว่าหลักฐานโชว์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นน้อยมาก และเป็นหลักฐานที่อิมมิเกรชั่นอาจจะตีความเป็นอื่นได้ (รูปสปอนเซอร์บาดเจ็บเนี่ยนะ ตกลงใครทำร้ายใครกันแน่ ใช่ค่ะคนเขียนเชื่อลูกความ ไม่มีเหตุผลที่จะไม่เชื่อ แต่คนทำงานต้องมองทุกมุม มองเผื่อมุมที่อิมมิเกรชั่นอาจจะมองด้วย – ก็เค้าเป็นคนตัดสินเคส)

.

เคสนี้คนเขียนอธิบายให้น้องฟังว่า มี 3 ทางคือ

  1. แพ๊คกระเป๋ากลับบ้าน
  2. หาวีซ่าอื่นเพื่อจะอยู่ที่ออสเตรเลียต่อไป
  3. ลุยไปข้างหน้ายื่น Permanent Partner visa ผ่าน Family violence provisions ซึ่งก็คือการยื่นเอกสารเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวเข้าไป แต่ต้องเผื่อใจเพราะเราอาจจะต้องไปถึงชั้นอุทธรณ์ (เพราะเอกสารน้อยและไม่แน่น) และเราอาจจะแพ้ที่ชั้นอุทธรณ์ก็ได้ (ว่าแล้วก็แจ้งประโยคเดิมๆให้น้องฟังว่า ไม่สามารถรับประกันความสำเร็จของงานได้ แต่รับประกันได้ว่าจะทำเคสให้ดีที่สุด เต็มความสามารถ)

.

มีหลายเคสมากที่คนเขียนแจ้งล่วงหน้าเลยว่าเคสอาจจะไปถึงชั้นอุทธรณ์ บางเคสแจ้งค่าบริการชั้นอุทธรณ์ล่วงหน้าเลยด้วย บางคนอาจจะรู้สึกห่อเหี่ยว แต่คนเขียนคิดว่าเราควรเอาความเป็นจริงมาคุยกัน จะได้เอาข้อมูล (ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยง       ระยะเวลา และค่าใช้จ่าย) ไปประกอบการตัดสินใจ และก็หลายเคสมากที่เราไม่ต้องไปชั้นอุทธรณ์ และได้วีซ่ามาที่ชั้น             อิมมิเกรชั่นนั่นแหละ

.

คนเขียนจริงใจ ตรงไปตรงมาค่ะ ถ้ารับได้ เชื่อใจกันก็ทำงานด้วยกันได้ สรุปว่าน้องลุย คนเขียนก็ลุยค่ะ

.

….. สรุปว่าคนเขียนวางแผนเคสไปกุมขมับไป

.

เริ่มแรกเลย เราแจ้งอิมมิเกรชั่นค่ะว่าความสัมพันธ์ของเราจบลงแล้ว (เคส Partner visa ที่ยังอยู่ในการพิจารณา ไม่ว่าระหว่างรอผลวีซ่า Stage 1 หรือ Stage 2 ของ Partner visa ถ้าความสัมพันธ์สิ้นสุดลง ผู้สมัครมีหน้าที่แจ้งอิมมิเกรชั่น)  เมื่อเรามีหน้าที่ เราทำหน้าที่ค่ะ ดูดีไว้ก่อน (ดีกว่าสปอนเซอร์เป็นคนแจ้งหรือเพื่อนผู้ไม่หวังดีเป็นคนแจ้งเป็นไหนๆ)  แต่ไม่ใช่แจ้งแล้วไม่ทำอะไรเลยนะคะ  การวางแผนงาน (Strategies ต่างๆ) ต้องมีแล้วตั้งแต่ก่อนแจ้ง (หมดเวลากุมขมับ แผนต้องมา งานต้องเดิน) เพราะเมื่อแจ้งแล้ว อิมมิเกรชั่นก็จะเริ่มขอเอกสารและคำอธิบายซึ่งมีกำหนดเวลาให้ตอบคำถาม ไม่ตอบตามเวลาเราอาจจะได้ไปชั้นอุทธณ์ทั้งที่ยังไม่ได้สู้ที่ชั้นอิมมิเกรชั่นเลย

.

ถึงแม้เคสน้องจะไม่ใช่เคสในฝัน คือมันไม่ง่าย แต่น้องเป็นลูกความในฝัน แนะนำให้ทำอะไรน้องทำทุกอย่าง อย่างรวดเร็วและเต็มที่ ถึงแม้จะสับสนในชีวิตและจิตตก เราก็ทำงานกันไปปลอบกันไป  คนเขียนตีเอกสารกลับไปหลายรอบ ส่วนใหญ่เป็น Statements (หมายถึงจดหมายคำอธิบายของน้องและเพื่อนๆ ไม่ใช่แบงค์สเตทเมนท์) คือเอกสารไม่แน่นไม่ปึ๊ก เอกสารคลาดเคลื่อนคลุมเครือ เราไม่ยื่น คือหลักฐานในเคสนี้ก็น้อยอยู่แล้ว ขืนส่ง Statements และเอกสารแบบเกือบดีเข้าไป เราคงได้ไปชั้นอุทธรณ์จริงๆ

.

ตีเอกสารกลับ ฟังดูโหด แต่จริงๆคือการขอให้แก้ไขนั่นแหละค่ะ พร้อมไกด์ให้ว่าควรจะแก้ไขประมาณไหน เพิ่มข้อมูลอะไร หาหลักฐานประเภทไหนเพิ่ม เคสที่มีหลักฐานน้อย คนเขียนก็ต้องมีไอเดียบรรเจิด ก็ต้องคิดนอกกรอบกันนิดนึง (บางคนอาจจะ   ไม่แคร์ ลูกความมีเอกสารแค่ไหนก็ยื่นไปแค่นั้น แต่สำหรับคนเขียน…การช่วยลูกความคิดหาเอกสารเพิ่มเติม คนเขียนถือเป็นเนื้องาน อะไรช่วยได้ และอยู่ในกรอบของกฏหมาย คนเขียนทำทั้งนั้น)

.

สรุปว่าในที่สุดเอกสารเราก็แน่นค่ะ (ก็แน่นเท่าที่แน่นได้นั่นแหละค่ะ)  …. 1 ปี + 1 เดือนนับจากที่เราแจ้งอิมมิเกรชั่นว่าความสัมพันธ์สิ้นสุดลง น้องก็ได้พีอาร์มาครองสมใจ  เคสนี้ …

  1. ไม่มีการถูกสัมภาษณ์
  2. ไม่มีการขอเอกสารเพิ่มเติม
  3. ไม่มีการส่งตัวไปหา Independent expert (ถ้าอิมมิเกรชั่นไม่เชื่อว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นจริง ลูกความก็จะถูกส่งตัวไปหา Independent expert ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ทางด้านจิตวิทยาของอิมมิเกรชั่น/รัฐบาลเพื่อขอความเห็นว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และความเห็นของเค้าก็เป็นที่สุด)

.

เคสนี้ น้องก็เป็นอีกหนึ่งลูกความที่อยู่คนละรัฐกับคนเขียน การทำงานของเราก็ผ่านโทรศัพท์ อีเมล์และไลน์ ตั้งแต่เริ่มการปรึกษาเบื้องต้นจนน้องได้พีอาร์ไปแล้วเราก็ยังไม่เคยเจอกันเลย

.

ป.ล.1   เคส Family violence ไม่ได้พิสูจน์แค่ว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นนะคะ ก่อนที่อิมมิเกรชั่นจะดูเรื่องความรุนแรง อิมมิเกรชั่นดูก่อนว่าเรากับสปอนเซอร์มีความสัมพันธ์กันจริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้นหลักฐานความสัมพันธ์ก็จะต้องมีเช่นกัน  บางเคสที่คนเขียนทำมา ลูกความถูกยึดพาสปอร์ต กลับเข้าบ้านไม่ได้ ไม่มีเอกสารจะพิสูจน์ความสัมพันธ์เลย เพราะคุณสปอนเซอร์เก็บไว้ หรือทำลายไปหมด เคสแบบนี้ก็เป็นเคสที่ต้องใช้ไอเดียบรรเจิด ช่วยลูกความหาเอกสาร

.
ป.ล.2   เคส Partner visa เป็นเคสที่ต้องเก็บเอกสารความสัมพันธ์อยู่แล้วจนกว่าจะได้พีอาร์มาครอง น้องๆทั้งหลาย ไม่ว่าจะมีปัญหาหรือไม่มีปัญหากับแฟนก็ควรจะเก็บเอกสารพวกนี้ไว้เองด้วย เช่นแสกนลง USB ถ่ายรูปเก็บไว้ในมือถือ หรือเก็บใน cloud account เผื่อเกิดปัญหาขึ้นมากลับเข้าบ้านไม่ได้ เอกสารถูกยึดถูกทำลาย อย่างน้อยก็ยังมีบางอย่างที่เราพอจะมีและเอามาใช้ได้
 

…. รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม ……  มีประโยชน์โปรดแชร์ ……

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

Blog: https://visablog.weebly.com