- 18
- Sep
- 2022
Partner visa สปอนเซอร์แฟนคนที่ 3
คนเขียนมีน้องโทรมาถามกันเป็นระยะๆ
พี่คะ แฟนหนูเคยสปอนเซอร์แฟนมาแล้ว 2 คน เค้าจะสปอนเซอร์หนูได้ไหมคะ
พี่คะ แล้วถ้าหนูมีลูกด้วยกัน มันจะทำให้เคสง่ายขึ้นไหมคะ
คำถามสั้น คำตอบไม่สั้น — คนเขียนไม่ค่อยตอบว่าทำได้ หรือทำไม่ได้ บอกตามตรงว่าคำตอบแบบนี้ สำหรับคนเขียนรู้สึกว่าเป็นคำตอบไร้สาระ ตอบแบบไม่มีความรับผิดชอบ
* ตอบว่าทำได้ ก็เป็นคำตอบให้ความหวัง แต่จริงๆอาจจะทำไม่ได้
* ตอบว่าทำไมได้ ก็เป็นคำตอบตัดความหวัง แต่จริงๆอาจจะทำได้ ก็ได้
กฏหมายคนเข้าเมืองอนุญาตให้สปอนเซอร์แฟนได้แค่ 2 คนค่ะ (Sponsorship limitation) … ถ้าต้องการสปอนเซอร์แฟนคนที่ 3 ต้องโชว์เหตุผลน่าเห็นใจ แจกแจงไปว่าทำไมอิมมิเกรชั่นถึงควรจะอนุญาตให้สปอนเซอร์อีกได้ ซึ่งไม่ง่าย
แต่ละเคสเราต้องดูเนื้อหา เข้าใจเคสในรายละเอียด บางเคสต้องคิดหลายวัน บางเคสคิดกันเป็นเดือน บางเคสคิดไปตลอดระยะเวลาการทำงาน เพราะเป็นเคสความเสี่ยงสูง
ถ้าใครจับพลัดจับผลู ได้แฟนที่สปอนเซอร์ไปแล้ว 2 คน ทางเลือกของน้อง คือ
1. เลิก
2. เป็นแฟนกันไป แต่น้องหาวีซ่าอื่นยื่น … ที่ไม่ใช่ Partner visa
3. ลุยไปข้างหน้ากับ Partner visa แต่เข้าใจว่าเคสไม่ง่าย เพราะต้องพิสูจน์เหตุผลน่าเห็นใจ
สำหรับปีนี้ คนเขียนจบเคสสปอนเซอร์แฟนคนที่ 3 ไป 2 เคส
เคสแรก เป็นคู่ต่าง (ชาย-หญิง) ไม่มีลูกด้วยกัน —– ลูกความกลัวเคสยากไม่พอสำหรับคนเขียน ระหว่างรอเคส คุณสปอนเซอร์ก็ไปมีคดีอาญา ให้คนเขียนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพิ่มด้วย
เคสที่สอง เป็นคู่เหมือน (ชาย-ชาย) ก็แน่นอน ไม่มีลูกด้วยกัน —– เคสนี้ ระยะเวลาความสัมพันธ์ค่อนข้างสั้น และอิมมิเกรชั่นก็เรียกเคสเร็วกว่าที่คาดไว้ … แผนงาน (Strategy) ที่วางไว้ เป็นอันต้องปรับใหม่หมด แก้ปัญหาเฉพาะหน้าอีกแล้ว
ทั้งสองเคส ลูกความน่ารักมาก Proactive …. ขออะไร ได้ …. ให้ทำอะไร ทำ
ทั้งสองเคส คนเขียนแจ้งค่าใช้จ่ายชั้นอุทธรณ์เผื่อไว้เลยตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน เพราะเป็นเคสความเสี่ยงสูง (ทำงานกับคนเขียน ไม่มีโลกสวยนะคะ)
ทั้งสองเคส ได้เอาเงินเก็บที่เตรียมไว้สำหรับชั้นอุทธรณ์ไปทำอย่างอื่น เพราะเคสผ่านไปได้ด้วยดีที่ชั้นอิมมิเกรชั่น
เคสแรก (ชาย-หญิง) ใช้เวลาเกือบ 3 ปี
เคสที่สอง (ชาย-ชาย) ใช้เวลา 8 เดือน
ลูก ….. ถ้าจะมีลูกเพราะอยากมี จัดไป …. ถ้าจะมีลูก เพราะคิดว่าจะช่วยเรื่องวีซ่า ขอร้องอย่าทำ
1. ไม่แฟร์กับเด็กที่จะให้เค้าเกิดมาด้วยเหตุผลแบบนี้
2. ไม่มีลูกด้วยกัน เคสก็ผ่านได้
3. มีลูกด้วยกัน ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้เคสง่ายขึ้นเสมอไป คนตัดสินเคสทั้งชั้นอิมมิเกรชั้น และชั้นอุทธรณ์ ก็คนเหมือนเราๆนี่แหละ … บางคนก็มีความเห็นอกเห็นใจ … บางคนก็ไม่สน ไม่แคร์ … และถ้าเคสถูกปฏิเสธ นอกจากตัวเองจะเดือนร้อนแล้ว ยังเอาเด็กตัวเล็กๆที่ไม่รู้เรื่องอะไร มาเดือนร้อนไปด้วย … และถ้าบังเอิญความสัมพันธ์ไปไม่รอดล่ะ ??
Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
Blog: https://visablog.weebly.com