Home / 485 visa / แชร์ประสบการณ์ เคสเกือบ Hopeless
single

แชร์ประสบการณ์ เคสเกือบ Hopeless

 

เคสนี้ น้องลูกความติดต่อมาจากไทย

น้องเป็นนักเรียนที่ออสเตรเลียมาหลายปี …. สัมภาษณ์กันอยู่นาน …. สรุปได้ว่า ….

  • ปัญหาเกิดเมื่อน้องต่อ Student visa เอง ซึ่งตอนนั้นวีซ่าที่ถืออยู่หมดอายุไปแล้วด้วย …. ปรากฏว่าใบสมัคร invalid (ยื่นไม่ถูกต้อง อิมมิเกรชั่นไม่รับใบสมัคร)
  • น้องก็พยายามแก้ปัญหาเองต่อไปอีก …. ปรากฏว่าไม่รอด
  • สุดท้ายต้องขอ Bridging visa E และกลับไทย
  • แต่กว่าจะกลับไทย น้องอยู่แบบไม่ถือวีซ่านานเกิน ติดบาร์ 3 ปี ไปเรียบร้อย
  • เนื่องจากยังเหลือเรียนอีก 1 วิชา น้องก็ติดต่อเอเจนต์ให้ยื่นวีซ่านักเรียนให้ (เข็ดทำเอง)
  • อิมมิเกรชั่นปฏิเสธวีซ่า สั้นๆง่ายๆ อยู่ออสเตรเลียมานาน ไม่เชื่อว่าเป็นนักเรียนจริง

 

น้องติดต่อคนเขียนหลังจากถูกปฏิเสธวีซ่า …. เครียดมาก ไม่คิดว่าจะถูกปฏิเสธวีซ่า ข้าวของที่ออสเตรเลียก็ไม่ได้แพ๊ค ค่าเช่าก็ยังต้องเสีย ตัวอยู่ไทย ไม่มีงานทำ

คนเขียนขอดูเอกสารว่าวีซ่านักเรียนที่ถูกปฏิเสธยื่นอะไรไปบ้าง …. ปรากฏว่ามีจดหมายอธิบายว่าทำไมถึงมีความผิดพลาดเรื่องวีซ่า ทำไมยื่นในออสเตรเลียไม่ทัน จนมีประวัติไม่ถือวีซ่าและต้องกลับมายื่นวีซ่าจากไทย …. พูดง่ายๆคือจดหมายนี้เป็นการพยายามขอยกเว้นการติดบาร์ 3 ปีนั่นเอง

แต่ …. ลืมอะไรไปรู้ไหม ??? …. ลืมตอบโจทย์ประเด็น Genuine Temporary Entrant (GTE) …. ในจดหมายไม่มีระบุว่าทำไมถึงต้องกลับมาเรียนที่ออสเตรเลีย เรียนที่ไทยได้หรือไม่ได้ยังไง etc. …. จะไปคิดเองเออเองว่าว่าอิมมิเกรชั่นต้องคิดได้เองสิว่านักเรียนเหลืออยู่ 1 วิชา ก็ต้องตั้งใจเป็นนักเรียน กลับมาเรียนให้จบรึเปล่า

 

ขีดเส้นใต้ 3 เส้น …. ผู้สมัครมีหน้าที่นำเสนอข้อมูล เอกสาร หลักฐาน …. อิมมิเกรชั่นไม่มีหน้าที่คิดเอง …. และถ้าปล่อยให้คิดเอง อาจจะได้ความคิดติดลบ (เช่นเคสนี้เป็นต้น)

 

ในเมื่อข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ …. คนเขียนแนะนำให้ยื่นวีซ่านักเรียนใหม่ ทำเอกสารให้แน่นกว่าเดิม …. แต่เสี่ยงแน่ๆ ทั้งประเด็น GTE และประเด็นติดบาร์ 3 ปี

น้องบอกว่าแต่น้องถูกปฏิเสธแค่ประเด็น GTE แปลว่าอิมมิเกรชั่นต้องโอเคกับประเด็นติดบาร์ 3 ปีแล้วสิ

ไม่จริง …. อิมมิเกรชั่นแค่ดึงมาประเด็นเดียวก็ปฏิเสธได้แล้ว จะเขียนอะไรเยอะแยะ …. แต่ไม่ได้แปลว่ายื่นใบสมัครรอบหน้าจะไม่เอามาทุกประเด็นมาพิจารณา แปลว่าก็ต้องกังวลทั้ง 2 ประเด็น !!!! …. อ้อ อย่าลืมว่านอกจากมีประวัติอยู่ออสเตรเลียแบบไม่มีวีซ่า ตอนนี้มีประวัติถูกปฏิเสธวีซ่าเพิ่มเข้ามาด้วย …. ยากสิ …. But it is what it is, you can’t change the past.

 

คนเขียน:   …. [ช่วยคิดอย่างเต็มที่] …. ไม่อยากลองเสี่ยงยื่นใหม่ ก็ลองคุยกับโรงเรียนไหม เหลืออยู่ 1 วิชา ขอเรียนออนไลน์ได้ไหม และก็ให้เพื่อนช่วยแพ๊คของส่งกลับ บอกเลิกการเช่าจะได้ไม่ต้องเสียตังค์ไปเรื่อยๆ ???

ลูกความ:   แต่หนูอยากกลับไปออสเตรเลีย !!!

คนเขียน:   โอเค ชัดเจน …. อยากกลับ ก็ต้องลองยื่นใหม่ไง …. อ้อ …. อย่าลืมขอ CoE ด้วยนะ (อีก 1 ปัญหา โรงเรียนไม่อยากออก CoE ให้ เนื่องจากน้องถูกปฏิเสธวีซ่ามาแล้วรอบนึง)

 

วันถัดมา …. น้องอีเมล์มาบอกว่า …. โรงเรียนให้น้องจบ !!!!

อ้าว …. เรียนจบ ก็ขอวีซ่านักเรียนไม่ได้แล้วสิ …. แปลว่าที่คิดๆไว้ว่าจะทำเคสวีซ่านักเรียนนี้ยังไง ลบทิ้ง

โจทย์ใหม่ …. ก็ต้องเริ่มคิดใหม่ ดูเอกสารกันใหม่ ทำ Research ใหม่ด้วย  …. แล้วเราก็เห็นทางออก …. Subclass 485 Temporary Graduate visa นั่นเองค่ะ

วีซ่า 485 โดยตัวกฏหมายปกติแล้วผู้สมัครหลัก (น้องลูกความ) จะต้องอยู่ที่ออสเตรเลียตอนยื่นใบสมัคร แต่คนทำงานด้านนี้เราต้องตามกฏหมายอย่างใกล้ชิด ซึ่งเรารู้ว่าช่วงโควิด รัฐบาลอนุญาตให้ยื่นวีซ่า 485 จากนอกออสเตรเลีย แต่ที่ต้องทำ research ใหม่หมด เพราะเคสน้องไม่ใช่เคสตรงไปตรงมา มีประเด็นให้น่ากังวลอยู่หลายประเด็น ทั้งประวัติวีซ่า และประวัติการศึกษาเลย แต่ต้องบอกว่าน้องมีโอกาสได้วีซ่า 485 นี้มากกว่าตอนที่คิดว่าจะต้องยื่นวีซ่านักเรียนแน่นอน

คนเขียนบอกน้องว่า ไม่คิดนานนะคะ จะทำก็รีบๆทำ เพราะกฏหมายที่ออกมาช่วงโควิด ทยอยยกเลิกไปเยอะแล้ว คนเขียนเชื่อว่าเคส 485 แบบยื่นนอกออสเตรเลียจะหายไปเร็วๆนี้

…. น้องลุย คนเขียนก็ลุย และอย่างรวดเร็ว กลัวกฏหมายจะเปลี่ยนซะก่อน

 

เคสนี้ คนเขียนเลือกที่จะไม่เปิดประเด็นเลยซักประเด็นเดียว แต่เลือกเอกสารอย่างระมัดระวัง และเราวางแผนไว้แล้วว่าถ้าอิมมิเกรชั่นยังมีคำถามเพิ่ม เราจะโต้เถียงยังไง และจะยื่นเอกสารอะไรเพิ่ม

รอเรื่องอยู่ 2 เดือนกว่าๆ วีซ่าผ่าน ไม่มีคำถาม ไม่ขออะไรเพิ่ม …. เจอน้องกรี๊ดใส่ หูดับไป 2 วิ

หลังจากที่น้องได้วีซ่าไม่กี่วัน กฏหมายเปลี่ยนจริงๆอย่างที่คาดไว้ …. กฏปัจจุบันผู้สมัครหลักวีซ่า 485 ยื่นได้ในออสเตรเลียเท่านั้น

กฏหมายด้านอิมมิเกรชั่นเปลี่ยนตลอด …. ถ้าอยู่ออสเตรเลีย หรืออยากมาออสเตรเลีย ตามข่าวด้วย …. ถ้าไม่มั่นใจในความรู้ความสามารถของตัวเอง หา Professional มาช่วยเราค่ะ อย่าลืมว่าไม่มีใครรู้ทุกเรื่อง เก่งทุกเรื่อง

 

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

Blog: https://visablog.weebly.com