Home / 457 visa / AAT Review application – Subclass 186 Nomination
single

AAT Review application – Subclass 186 Nomination

 

เคสที่คนเขียนจะแชร์วันนี้เป็นเคสมหาหิน และเป็นเคสที่ใช้ชั่วโมงการทำงานเยอะมากถึงมากที่สุด

 

ข้อคิดในเคสนี้อยู่ในเนื้อหา (ไม่มี ป.ล. 1, 2, 3, 4) หวังว่าน้องๆจะได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดในเคสนี้ และเอาไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์กับเคสตัวเองนะคะ

 

โพสนี้แอดวานซ์นิดนึงนะคะ สำหรับคนที่พอมีความเข้าใจเงื่อนไขของวีซ่า 186 หรือ 187 มาบ้างแล้ว สำหรับมือใหม่ รบกวนตามอ่านลิงค์ที่ให้ไว้ตัวส้มๆในโพสนี้ก่อน จะได้พอเข้าใจว่าคนเขียนพูดถึงอะไร และสำคัญยังไง

 

คุณลูกความติดต่อมาขอคำแนะนำหลังจากอิมมิเกรชั่นปฏิเสธ Nomination สำหรับวีซ่า Subclass 186 แบบ Temporary Residence Transition Stream (TRT) ….. เหตุผลที่ปฏิเสธก็มี 2 ข้อด้วยกัน คือ

 

  • นายจ้างมีประวัติไม่ทำตามเงื่อนไขการเป็นสปอนเซอร์หลายข้อ เคยถูกปรับ เคยติดบาร์ห้ามสปอนเซอร์พนักงานเพิ่ม
  • เนื่องจากอิมมิเกรชั่นเจอว่าลูกจ้างทำหน้าที่อื่นนอกเหนือจากหน้าที่ของตำแหน่งที่ได้รับการสปอนเซอร์มา อิมมิเกรชั่นเลยตัดสินว่าลูกจ้างไม่ได้ทำงานในตำแหน่งที่จ้างครบ 2 ปี ในระหว่างที่ถือวีซ่า 457

(จริงๆแล้วเหตุผลการปฏิเสธคือข้อล่างเท่านั้น แต่ข้อบนเป็นที่มาที่ไปสำคัญของการถูกปฏิเสธ เพราะฉะนั้นจากคำตัดสิน เคสนี้มี 2 ประเด็น)

 

เท้าความข้อกฏหมายนิดนึง……. เคสนี้เข้ากฏเก่า (Transitional arrangements) …… คือต้องทำงานในระหว่างถือวีซ่า 457 อย่างน้อย 2 ปี ถึงจะขอพีอาร์ได้ (กฏปัจจุบันคือต้องทำงานในวีซ่า 457 / TSS-482 อย่างน้อย 3 ปี ถึงจะขอพีอาร์ได้)

 

จากข้อมูลที่ลูกความให้มา คนเขียนคิดว่าเราน่าจะหาข้อโต้แย้งเหตุผลทั้ง 2 ข้อนี้ได้ (หมายถึงโต้แย้งกันทางข้อกฏหมายนะคะ ไม่ใช่โต้แย้งแบบตามใจฉัน)

 

เคสนี้จริงๆยื่นใหม่ได้ เพราะลูกความยังถือวีซ่า 457 อยู่อีกระยะใหญ่ แต่แนวโน้มที่จะถูกปฏิเสธอีกรอบก็มีสูง  และลูกความก็ยังไม่มีผลภาษาอังกฤษสำหรับกฏปัจจุบัน (เทียบเป็น IELTS ก็ 6 ทุกพาร์ท) ….. สรุปว่าเคสนี้การยื่นอุทธรณ์ดูแล้วจะเข้าท่าที่สุด (จริงๆยื่นอุทธรณ์ด้วย และเมื่อได้ผลภาษาอังกฤษก็ยื่นใหม่ด้วยก็ได้ แต่ลูกความไม่สน ไม่สอบ วัดใจกันไปเลยค่ะ ลุยทางเดียว บอกว่าถ้าไม่ชนะที่ชั้นอุทธรณ์ก็จะแพ๊คกระเป๋ากลับบ้าน …. คนเขียนแอบเครียดเลย กลัวครอบครัวนี้ต้องแพ๊คกระเป๋าจริงๆ)

 

ว่าแล้วลูกความก็เซ็นสัญญาให้คนเขียนดูแลเคสอุทธรณ์ …. และแล้วเซอร์ไพร์สก็มา ……. งานงอกแบบจริงๆจังๆ ไม่เคยมีเคสไหนงานงอกขนาดนี้

 

เบื้องลึกของเคส ….. ข้อมูลที่ไม่ได้ระบุในคำตัดสิน แต่เจอระหว่างทางคือ

 

  • ลูกความใช้วันลา (annual leave เพื่อกลับไทย) เกินไปเยอะมาก รวมระยะเวลาทำงานอยู่ในประเทศออสเตรเลียทั้งหมด (นับแล้วนับอีก นับไป 5-6 รอบ – wishful thinking) นับยังไงก็ได้ไม่ถึง 2 ปี ณ วันยื่น Nomination (ถามว่าทำไม๊ ทำไม ทำไปได้ไง รออีกนิดให้มันครบ 2 ปี++++ แล้วค่อยยื่นไม่ได้เหรอ วีซ่าเหลืออีกตั้งนาน จะรีบไปไหน – ไม่แอบเครียดแล้ว เครียดอย่างแรง)
  • รายละเอียด Leave period ที่ให้ไปที่ชั้นอิมมิเกรชั่นก็ไม่ถูกต้อง อิมมิเกรชั่นเช็คได้จาก Movement record (เครียดหนักเข้าไปอีก) – ลูกความบอกว่า honest mistake แต่ Tribunal อาจจะมองว่าโกหกก็ได้ เพราะ Leave period ที่ไม่ถูกต้องนับเวลาได้ครบ 2 ปี แต่พอเช็คจาก Movement record แล้ว กลับนับเวลาได้ไม่ถึง 2 ปี – เครียดไหมล่ะ เริ่มเห็น Credibility issue (ปัญหาความน่าเชื่อถือ) ที่ปลายขอบฟ้า
  • เอเจนต์เดิมเอาค่าเทรนนิ่ง  (Training expenditure)  ที่เกิดขึ้นก่อนที่นายจ้างจะได้เป็นสปอนเซอร์มานัวๆเป็นค่าเทรนนิ่งในระหว่างที่มีลูกจ้างถือ 457  (คือมันใช้ไม่ได้นะคะ)  –   ลูกความบอกว่าไม่รู้ ก็จ่ายตามที่เอเจนต์แนะนำให้จ่าย และอิมมิเกรชั่นก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องเทรนนิ่ง ก็แปลว่าไม่มีปัญหาสิ – คือจริงๆแล้ว
    • อิมมิเกรชั่นไม่จำเป็นต้องลิสทุกเหตุผลที่สามารถปฏิเสธได้ ลิสเหตุผลเดียวก็ปฏิเสธได้แล้วค่ะ
    • และถึงแม้อิมมิเกรชั่นจะนัวๆโอเคกับบางเรื่อง    Tribunal ไม่จำเป็นต้องนัวๆโอเคด้วยนะคะ เพราะการพิจารณา Nomination refusal outcome เป็นการพิจารณาใหม่หมดในทุกเงื่อนไขของ Nomination และต้องบอกว่า Tribunal แม่นข้อกฏหมายกว่าอิมมิเกรชั่นเยอะมาก …… ข้อดีคือเราคุยภาษาเดียวกัน (ภาษากฏหมาย) ข้อเสียคือถ้าหาข้อกฏหมายมาสนับสนุนข้อเท็จจริง (ที่ไม่ค่อยจะสวยหรู) ไม่ได้ เคสก็ Hopeless
  • สัญญาระบุให้จ่ายค่าจ้างทุกอาทิตย์ แต่จ่ายกันรายเดือนมั่ง รายสองอาทิตย์มั่ง ทุกวันที่ 15 มั่ง สรุปว่าผิดตั้งแต่ไม่ทำตามที่สัญญาระบุไว้ แถมยังนำเสนอว่ามีการจ่ายเงินครบถ้วนได้ยากมาก … ทำยังไงดีล่ะ ….ไม่นำเสนอ-เคสก็อาจจะไปไม่รอด นำเสนอ-เคสก็อาจจะดูไม่ดี (สรุปว่าต้องเลือกเอาระหว่างสถานการณ์ที่แย่กับแย่กว่า)

และบลา … บลา … บลา …. คือมีปัญหาอื่นอีกมากมาย เงื่อนไขการพิจารณา Nomination มีกี่ข้อ มีปัญหาเกือบทุกข้อ …….. คนเขียนก็คิดไม่ถึงว่าสาระพันปัญหามันจะมารวมกันอยู่ในเคสๆเดียวนี้แหละ (ลูกความสามารถมาก) ปรากฏว่าอธิบายยังไงลูกความก็ไม่เข้าใจว่าเคสตัวเองอาการหนักมาก  Positive thinking สุดๆ (ซึ่งก็เข้าใจได้ คนส่วนใหญ่ก็คิดว่าเมื่อตัวเองคิดดีทำดี ก็ต้องได้ดี ทำผิดพลาดแบบไม่ตั้งใจก็พยายามแก้ไข ก็ต้องให้อภัยกันสิ … ในความเป็นจริงกฏหมายอิมมิเกรชั่นโหดร้ายกว่านั้นนะคะ ……..  บางครั้ง Tribunal ก็มองอีกมุม เช่นกฏหมายเป็นอะไรที่คุณต้องรู้ จะมาบอกไม่รู้ไม่ได้ ไม่อย่างงั้นทุกคนก็อ้างแบบนี้ ก็ได้วีซ่ากันหมดสิ ….. หรือมองว่าคุณพยายามโกหก สร้างเรื่องเพื่อให้ได้วีซ่ารึเปล่า …. บางครั้ง Tribunal ก็เห็นใจ แต่กฏหมายอาจจะไม่เปิดช่องให้ใช้ความเห็นใจมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณา)

 

สรุปว่าหายใจเข้าลึกๆหายใจออกยาวๆ ทำ Research หาข้อกฏหมายมาแก้ปัญหาไปทีละเปลาะ ส่วนที่ไม่มีข้อกฏหมายมาช่วย คนเขียนก็ไปนำเสนอมุมมองใหม่ๆเอาที่ Tribunal ละกัน

 

เคสนี้ก็ลูกความในฝันอีกแล้วค่ะ เคสยากมากจริงๆ แต่แนะนำอะไร ลูกความทำทุกอย่าง …. ทำให้คนเขียนแก้ไขปัญหาหลายๆจุดให้คุณลูกความได้ทางเอกสาร และเหลือประเด็นหลักๆ (ซีเรียสๆ) ไว้ลุยกันวัน Hearing เพราะเอกสารอย่างเดียวเอาไม่อยู่

 

ปรากฏว่าวัน Hearing คนเขียนแอบกุมขมับ เพราะรู้สึกว่า Tribunal member ออกแนวติดลบกับเคสพอสมควร (ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะประเด็นที่ซีเรียสและไม่น่าจะให้ผ่านมีหลายประเด็น ประกอบกับลูกความและพยานก็ตื่นเต้นตอบคำถามได้ไม่ดีและไม่ละเอียดพอ) คนเขียนก็มีการโต้เถียงทางข้อกฏหมายกับ Tribunal member ในวันนัด แต่เนื่องจากมีหลายประเด็น เวลาก็หมดซะก่อน แต่ Tribunal member ก็ยังอนุญาติให้คนเขียนทำ Written Submissions โต้เถียงเคสเพิ่มเติมได้ (โอกาสสุดท้ายของเรา) …. สรุปว่าผ่านค่ะ …. ลูกความไม่ต้องแพ๊คกระเป๋ากลับบ้านแล้ว … เย้ … หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง  (เคสนี้ลูกความอยู่คนละรัฐกับคนเขียน ตั้งแต่ต้นจนจบเรายังไม่เคยเจอกันตัวเป็นๆ ….. อ้าว แล้ว Hearing กันยังไง??? – Video conference คือคำตอบ)

 

คนเขียนจะไม่ลงรายละเอียดว่าโต้เถียงอะไรไปบ้าง แค่ Submissions โต้เถียงทางข้อกฏหมายอย่างเดียวก็ 10 หน้าแล้ว เอกสารประกอบรวมๆในเคสนี้ก็น่าจะราวๆ 400-600 หน้า และแนวทางการโต้เถียงและการแก้ปัญหาของแต่ละเคสก็ไม่เหมือนกัน   แค่ยื่นต่างช่วงเวลากันก็อาจจะใช้กฏหมายกันคนละตัวแล้ว   ถึงแม้นายจ้างจะเคยมีประวัติถูกปรับหรือติดบาร์เหมือนกัน เหตุผลที่มาที่ไปของการถูกปรับหรือติดบาร์ก็ต่างกัน  ถึงแม้ลูกจ้างจะเคยถูกกล่าวหาว่าทำหน้าที่อื่นนอกเหนือจากหน้าที่ของตำแหน่งที่ได้รับสปอนเซอร์เหมือนกัน แต่ลักษณะงาน ธุรกิจ หรือเอกสารประกอบต่างกัน แนวทางการทำเคสก็ต่างกัน (สรุปว่าเคสใครเคสมันค่ะ เคสอุทธรณ์ไม่มีแพทเทิร์น) ….      แต่สิ่งที่ลูกความเคสอุทธรณ์ทุกคนควรมีคือ Being proactive ใส่ใจและเต็มที่กับเคสตัวเองค่ะ อย่าคาดหวังว่าเมื่อมีเอเจนต์หรือทนายความดูแลแล้ว เราจะไม่ต้องทำอะไรเลย ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ค่ะ เราทำงานกันเป็นทีม ทีมข้อกฏหมาย + ทีมข้อเท็จจริง (คุณลูกความนั่นเอง)  ลูกความยกความดีความชอบให้คนเขียนเต็มๆ แต่คนเขียนคืนกลับไปครึ่งนึง ถ้าลูกความไม่ใส่ใจเคสตัวเอง เคสก็ออกมาดีไม่ได้ เราไม่มีเวทมนต์ hard work + team work ล้วนๆค่ะ

 

หวังว่าข้อมูลในโพสนี้จะเป็นประโยชน์กับน้องๆที่หมายตาวีซ่า Subclass 186 หรือ 187 นะคะ

 

ขอบคุณที่อ่าน ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ ก็แชร์ได้เลยค่ะ ไม่ต้องขออนุญาติกัน

 

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

Blog: https://visablog.weebly.com