Home / 186 visa / แชร์ประสบการณ์ เคสอุทธรณ์นายจ้างสปอนเซอร์ 186 & 187 Nomination & Visa applications
single

แชร์ประสบการณ์ เคสอุทธรณ์นายจ้างสปอนเซอร์ 186 & 187 Nomination & Visa applications

 

เมื่ออาทิตย์ก่อน คนเขียนเข้าร่วมสัมมนาที่จัดโดยหน่วยงานอุทธรณ์ Administrative Appeals Tribunal – AAT และหนึ่งในข้อมูลที่ได้รับจาก AAT คือ เคสธุรกิจ – นายจ้างสปอนเซอร์ มีเรทการชนะที่ชั้นอุทธรณ์ที่ 35% !!!

 

อนาคตไม่รู้ …. แต่ ณ วันนี้ เคสอุทธรณ์นายจ้างสปอนเซอร์ของคนเขียนทุกเคสอยู่ใน 35% นี้

 

การเตรียมเคสนายจ้างสปอนเซอร์ โดยเฉพาะเคสถูกปฏิเสธ Nomination ไม่ง่าย เพราะเป็นการพิสูจน์ใหม่หมดทุกประเด็น ไม่ใช่เฉพาะประเด็นที่ถูกปฏิเสธ และในความเห็นของคนเขียน ถ้าเตรียมเคสดีๆ ก็มีโอกาสสูงอยู่ เพราะส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่ไม่ Black / White แต่ออกแนว Grey คือเรามีโอกาสที่โน้มน้าวให้ Tribunal member (คนตัดสินเคส) เห็นตามแนวทางการโต้เถียงของเรา

 

สำหรับคนที่ไม่รู้ …..

 

  • Nomination application คือใบสมัครของนายจ้าง เสนอตำแหน่งงานให้ลูกจ้าง
  • Visa application ก็ชัดเจน คือใบสมัครของลูกจ้าง ซึ่งก็ต้องมีความรู้ และประสบการณ์ตามที่กฏหมายกำหนด เพื่อที่จะมาทำงานในตำแหน่งที่นายจ้างเสนอให้
  • Nomination & Visa applications จะยื่นพร้อมกันก็ได้ หรือจะยื่น Nomination application ก่อน รอจนผ่าน แล้วค่อยยื่น Visa application ก็ได้
  • เคสนายจ้างสปอนเซอร์ส่วนใหญ่ที่ชั้นอุทธรณ์ คือเคส Nomination ถูกปฏิเสธ
  • เมื่อ Nomination ถูกปฏิเสธ ถ้ามีการยื่น Visa application เข้าไปด้วย วีซ่าก็จะถูกปฏิเสธไปด้วย (ยกเว้นมีการถอนใบสมัครวีซ่า ก่อนที่จะถูกปฏิเสธ)
  • เมื่อมีการถูกปฏิเสธ ต้องมาดูว่าจะยื่นใหม่ดี หรือจะยื่นอุทธรณ์ดี
  • บางเคสก็ไม่มีโอกาสยื่นใหม่ บางเคสก็ไม่ควรยื่นใหม่
  • ถ้าทั้ง Nomination & Visa applications ถูกปฏิเสธ โดยส่วนใหญ่ก็จูงมือกันไปอุทธรณ์ (แต่ไม่เสมอไป)
  • ถ้า Nomination ผ่าน Visa ก็ยังมีโอกาสถูกปฏิเสธได้อยู่ดี ถ้าผู้สมัครไม่เข้าเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ไม่มีผลภาษาอังกฤษ หรือมีประสบการณ์ไม่ถึงตามที่กฏหมายกำหนด
  • เคส Visa ถูกปฏิเสธ ส่วนใหญ่แล้ว Tribunal member จะพิจารณาเฉพาะประเด็นที่ถูกปฏิเสธ ถ้าทุกอย่างโอเค เคสก็จะถูกส่งกลับไปให้อิมมิเกรชั่นพิจารณาในประเด็นอื่นต่อไป

หลายคนอาจจะสงสัยว่า

 

Q: อ้าว … แล้วจะยื่นไปพร้อมกันทำไม คือควรจะยื่น Nomination application และรอให้ผ่านก่อน แล้วค่อยยื่น Visa application ดีกว่าไหม

A: จะยื่นพร้อมกัน หรือยื่นแยกเป็นสเต็ป ไม่มีสูตรตายตัวค่ะ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง พิจารณากันไปเคสๆไป ทั้ง 2 แบบ มีข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกัน บางคนอาจจะไม่มีทางเลือก เช่นวีซ่ากำลังจะหมด หรือกฏกำลังจะเปลี่ยน หรือบางคนมีทางเลือก แต่ก็ยังควรจะยื่นไปพร้อมๆกัน ด้วยเหตุผลเฉพาะของแต่ละเคส (การให้คำแนะนำเคสพวกนี้ ต้องสัมภาษณ์แบบเจาะลึกค่ะ)

 

Q: อุ๊ย … ถ้า Nomination ถูกปฏิเสธ เราก็รีบถอนใบสมัครวีซ่า ก่อนถูกปฏิเสธสิ ???

A: ขึ้นอยู่กับเนื้อหา / สถานการณ์ของแต่ละเคสอีกแล้ว บางเคสก็ควรถอนเรื่อง บางเคสก็ควรปล่อยให้ถูกปฏิเสธแล้วไปอุทธรณ์ ยกตัวอย่างเช่น น้องยื่นวีซ่าก่อนกฏเปลี่ยน ถ้าถอนเรื่อง แล้วรอยื่นใหม่เมื่อพร้อม น้องก็ต้องยื่นให้เข้ากฏปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเป็นไปไม่ได้สำหรับน้องบางคน (ถ้าถึงจุดที่ Nomination ถูกปฏิเสธ และไม่ทราบว่าควรจะถอนเรื่อง หรือปล่อยให้วีซ่าถูกปฏิเสธดี ควรจะนัดปรึกษาค่ะ เพราะบางเคส ต่อให้น้องเข้ากฏเก่า และคิดว่าควรจะปล่อยให้ถูกปฏิเสธ เพื่อไปอุทธรณ์ แต่ถ้า Nomination หรือ Visa application ไม่มีโอกาสชนะเลย การยื่นอุทธรณ์ก็อาจจะไม่ใช่ทางออก)

 

คนเขียนจบเคสอุทธรณ์ 186 / 187 Nomination & Visa applications ไป 3 เคสเมื่อไม่นานมานี้ ทั้ง 3 เคสเป็นเคสที่ยื่น Nomination & Visa applications ไปพร้อมกัน (2 ใน 3 เคสนี้ เป็นเคส Self-sponsorship) …. พอ Nomination  ไม่ผ่าน Visa ก็ไม่ผ่านด้วย ทั้ง 3 เคส Strategy ของเรา (ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน แต่ผลลัพธ์เหมือนกัน) คือ …. จูงมือกันไปอุทธรณ์ทั้งส่วนของนายจ้าง และลูกจ้าง

 

ความน่าสนใจของลูกความ 3 เคสนี้

 

เคสที่ 1 – ลูกความ Proactive แบบสุดๆ แนะนำให้ทำอะไร ได้ดั่งใจทุกอย่าง ทั้งส่งเอกสาร ทั้งติดต่อคนเขียนเป็นระยะๆ อัพเดทกันตลอด มีคำถามอะไรเกี่ยวกับธุรกิจที่อาจจะกระทบกับเคส น้องโทรขอคำแนะนำก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร หรือไม่ทำอะไร …. เคสยาก แต่ไม่มีความหนักใจเลย

 

เคสที่ 2 – แนะนำอะไรไป ก็ทำมั่ง ไม่ทำมั่ง และแอบทำเคสเละระหว่างรอ Hearing อีกตังหาก (ลูกความของคนเขียนทุกคน ยกหูโทรหาคนเขียนได้ตลอดไม่ต้องนัดล่วงหน้า ถ้าไม่รับสาย เดี๋ยวโทรกลับ …  แต่น้องลูกความไม่โทร ไม่ถามนี่สิ) …. คนเขียนก็งานงอกซิคะ ต้องมานั่งแก้ปัญหาที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นหลายประเด็นตอนใกล้ Hearing เหนื่อยแบบสุดๆกับการคิด ว่าจะยื่นเอกสารอะไร จะเชิญชวนให้ Tribunal member เห็นดีเห็นงามไปกับคนเขียนได้ยังไงกับเคสที่ไม่ค่อยสวย …. จากนั้นก็มาลุ้นต่อว่าจะชนะหรือไม่

 

เคสที่ 3 – ลูกความรู้ดีกว่าคนเขียน (ใช่แล้ว บางทีเราก็ได้ลูกความที่รู้ดีกว่าเรา) …. เหนื่อยหนักกว่าเคสที่ 2 อีก กลัวเคสจะไปไม่รอด  …. ลองนึกถึงคนที่แนะนำอะไรไปก็เถียง ไม่ฟัง ให้เตรียมอะไรก็ไม่เตรียมเพราะมั่นใจในตัวเอง …. บอกตามตรงว่าคนเขียนมีโมเม้นต์ที่อยากจะเชิญลูกความให้เอาเคสกลับไปทำเอง

 

ทั้ง 3 เคส คนเขียนเคลียร์ประเด็นที่ถูกปฏิเสธโดยอิมมิเกรชั่นได้แบบไม่ยาก แต่เนื่องจาก AAT ดูเคส Nomination ใหม่หมดทุกประเด็น ไม่ใช่แค่ประเด็นที่ถูกปฏิเสธ เพราะฉะนั้นเราโฟกัสไปประเด็นที่ถูกปฏิเสธประเด็นเดียวไม่ได้  และทั้ง 3 เคสนี้ ประเด็นที่เป็นปัญหาจริงๆที่ชั้นอุทธรณ์ ก็ไม่ใช่ประเด็นที่ถูกปฏิเสธโดยอิมมิเกรชั่น (ความน่าปวดหัวของเคส Nomination อยู่ตรงนี้เอง)

 

….. ลองนึกภาพ

 

คนเขียน:  น้องคะ ประเด็นนี้ (xxx) คาดว่าจะเป็นประเด็นหลัก น้องเตรียมเอกสาร 1 2 3 4 และเตรียมข้อมูล (yyy) ไว้ด้วยนะคะ คาดว่าคำถามจะมาประมาณ บลา … บลา … บลา

 

ลูกความ:  โอ๊ยพี่ ไม่ต้องหรอก มั่นใจว่าประเด็นนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะ บลา … บลา … บลา (หลงประเด็น แต่มั่นใจ)

 

คนเขียน:  น้องถือสายรอแป๊บนึงนะคะ เดี๋ยวกลับมาอธิบายให้ฟังอีกรอบ [คนเขียนขอเอาหัวไปโขกเสา 3 รอบ และนับ 1 – 100 ก่อน]

 

จริงๆ อธิบายย้ำไปอีกหลายรอบ …. แนะนำได้ แต่ถ้าลูกความไม่ทำ คนเขียนก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ทำใจ

 

วัน Hearing:   ไม่ใช่แค่ประเด็นที่คาดไว้เท่านั้น แต่เป็นคำถามที่คาดไว้ด้วย น้องตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้เตรียม (คนเขียนอยากจะบอกว่า I told you so!!)

 

…. คนเขียนจะไม่แคร์ก็ได้ เพราะพยายามแล้ว แนะนำแล้ว ซ้ำหลายรอบด้วย แต่น้องไม่ฟัง ไม่เตรียม

 

…. แล้วแคร์ไหม ? …. อยากจะไม่แคร์เหมือนกัน แต่ทำไม่ลง … สำหรับคนเขียน ตราบใดที่เคสยังอยู่ในมือ ก็ต้องทำให้ดีที่สุด …. เราก็ต้องมีเทคนิคการช่วยลูกความ รวมถึงโดน Tribunal member โวยใส่แทนลูกความด้วย !!!! (แอบสงสารตัวเองนิดนึง)

 

เห็นไหม ว่าทำไม การทำเคสแต่ละเคส เรารับประกันความสำเร็จของงานไม่ได้ …. ปัจจัยที่อาจจะทำให้เคสไม่ผ่าน มีเยอะแยะมากมาย รวมถึงปัจจัยที่ไม่ควรจะเกิดแบบเคสนี้ แนะนำแล้วไม่ทำ

 

สุดท้ายน้องมาขอโทษ ที่ไม่ฟัง และไม่เตรียมเคสตามที่แนะนำ และทำให้คนเขียนโดนโวย …. สำหรับคนเขียน การโดนโวยแทนลูกความเป็นเรื่อง จิ๊บ จิ๊บ ไม่คิดมาก [แต่ไม่โดนเลย ดีที่สุด] ….  แต่ที่เคืองคือน้องไม่ฟัง และทำเคสเกือบพัง …. คนเขียนพยายามฝ่ายเดียวไม่ได้นะคะ น้องลูกความต้องพยายามด้วย

 

นี่คือเหตุผลที่บางเคส คนเขียนก็ต้องเชิญลูกความให้ไปใช้บริการคนอื่น ถ้าไม่เชื่อ Strategy และคำแนะนำของคนเขียน ถ้าเชื่อคนอื่น หรือเชื่อตัวเองมากกว่า บอกเลยว่าช่วยยาก และเสียเวลามาก คนเขียนขอเอาเวลาอันมีค่า ไปช่วยคนที่มั่นใจในตัวคนเขียนดีกว่า

 

ล่าม – ถ้าไม่มั่นใจในภาษาอังกฤษของตัวเอง หรือของพยาน ขอล่ามไว้ก่อน (ฟรี) …. คือมีล่าม แล้วไม่ใช้ก็ได้ แต่ถ้าจะใช้ แล้วไม่มี เดือดร้อนนะคะ เอเจนต์หรือทนายความช่วยแปลไม่ได้ เพื่อนน้องหรือพยาน ก็ช่วยแปลไม่ได้

 

ทั้ง 3 เคส คนเขียนขอล่ามให้ทุกเคส ลูกความของคนเขียน ก็มีทั้งแบบใช้ล่ามเป็นบางช่วง ไม่ใช้ล่ามเลยเพราะสื่อสารกันรู้เรื่อง เคสที่แอบปวดหัวคือเคสที่สื่อสารไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ก็ไม่ยอมใช้ล่าม (จุดประสงค์ของการ Hearing คือการสื่อสารกับ Tribunal member ถาม-ตอบ และให้ข้อมูลว่าเคสเราควรจะผ่านเพราะอะไร ไม่ใช่การโชว์ความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษ และถ้าสื่อสารแบบติดๆขัดๆ นอกจากจะไม่ได้ช่วยเคสแล้ว คุณก็ไม่ได้โชว์ความสามารถทางภาษาอยู่ดี)

 

ทั้ง 3 เคส เราชนะที่ชั้นอุทธรณ์ และเคสจบไปได้ด้วยดี ….

 

ข้อมูลอีกอย่างที่ได้จากวันสัมมนา คือ … 40% ของเคสธุรกิจ – นายจ้างสปอนเซอร์ที่ชั้นอุทธรณ์ใช้ระยะเวลารอเกิน 2 ปี …. เพราะฉะนั้น การตามเคสถี่ๆ ไม่ได้ทำให้เคสเร็วขึ้น คนอื่นเค้าก็รอเคสนานเหมือนคุณ ถ้าไม่มีเหตุผลอันสมควร ไม่ต้องคิดลัดคิว …. สิ่งที่จะช่วยคุณได้คือการใช้เวลาระหว่างรอเคสให้เป็นประโยชน์ที่สุด เก็บเอกสารหลักฐานที่จะต้องใช้ … ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ปิดโอกาสตัวเองในระหว่างรอ อย่าลืมว่ากฏหมายด้านนี้เปลี่ยนบ่อยมาก คุณอาจจะมีโอกาสยื่นและได้วีซ่าตัวอื่นในระหว่างรอเรื่องก็ได้

 

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

Blog: https://visablog.weebly.com