Home / 482 visa / แชร์ประสบการณ์ Consultation รอบที่ 2
single

แชร์ประสบการณ์ Consultation รอบที่ 2

 

คนเขียนมีน้องๆนัดขอคำปรึกษาเบื้องต้น (Initial Consultation) กันเป็นปกตินะคะ บางคนก็

  • ชัดเจนมาเลยว่าต้องการทำวีซ่าอะไร (แต่บางครั้งคนเขียนก็เสนอวีซ่าตัวอื่นที่เหมาะสมกว่า)
  • ไม่ทราบอะไรเลยและต้องการหาแนวทาง หรือวางแผนอนาคต
  • มีปัญหาด่วนมาให้แก้ไขให้
  • มีเวลาตั้งเยอะแต่ไม่ทำอะไร เหลือ 1 อาทิตย์บ้าง 3 วันบ้าง
  • วีซ่าจะหมดวันพรุ่งนี้ วันนี้เพิ่งติดต่อมา

ปกติคนเขียนไม่ทำงานวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ  บางวัน 5ทุ่ม เที่ยงคืน ตี3 ยังนั่งทำงาน แต่จะพยายามเลิกรับโทรศัพท์หลัง 1ทุ่ม

 

สำหรับเคสด่วน นัดปรึกษาวันเสาร์อาทิตย์ หรือแม้กระทั่ง 3-4 ทุ่ม คนเขียนก็จัดให้นะคะ แต่ด่วนของลูกความ กับด่วนของคนเขียน คนละเรื่องกัน เช่น

  • ลูกความเพิ่งแพ้ที่ชั้นอุทธรณ์มา ต้องการทราบว่าจะอุทธรณ์ต่อหรือจะกลับไทยดี เคสนี้มี 35 วัน จริงๆเคสนี้ไม่ด่วน แต่ไฟล์กลับไทยช่วงโควิดมีไม่เยอะ และเต็มเร็วมาก เพราะฉะนั้นเวลาเป็นเรื่องสำคัญ และอาจจะมีผลกระทบกับวีซ่าของลูกความในอนาคต (ถ้าตัดสินใจจะกลับ แต่กลับไม่ได้ก่อนวีซ่าหมด) เคสนี้คนเขียนดูเคสให้วันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็น 3 วัน Long weekend สงสารตัวเองนิดนึง แต่ด่วนก็คือด่วน จัดให้
  • เคสที่ลูกความถูกเอเจนต์ลอยแพ และมี deadline คนเขียนก็ดูเคสให้แบบด่วน ส่วนจะรับทำเคสหรือไม่อีกเรื่องนึง
  • เคสที่วีซ่าจะหมดวันพรุ่งนี้ แต่เพิ่งติดต่อมา อันนี้ด่วนของคุณ ไม่ด่วนสำหรับคนเขียนนะคะ

เข้าเรื่องดีกว่า …… คนเขียนก็จะมีลูกความบางคนที่เคยทำ Initial Consultation แล้ว หายไปพักนึง ก็ขอนัดอีกรอบ หรืออีก 2 รอบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร รอบแรกอาจจะเป็นการหาแนวทาง รอบสองอาจจะพร้อมทำเรื่องยื่นวีซ่า หรือติดปัญหาอะไรบางอย่าง หรือสถานะของลูกความเปลี่ยน หรือกฏหมายเปลี่ยน

 

เคส Consultation รอบที่ 2 ที่คนเขียนแอบเซ็ง(และเสียดายแทน) ก็จะประมาณ 4 เคสข้างล่างค่ะ

 

เคสที่ 1

Initial Consultation …. เคส Partner visa …. ลูกความไม่ถือวีซ่า คนเขียนแนะนำเคสนี้ให้ยื่นในประเทศออสเตรเลียเท่านั้น โน๊ตตัวโตๆไว้ในไฟล์ว่า “Complex case – Onshore only”   เหตุผลคือนอกจากจะไม่ถือวีซ่าแล้ว ประวัติทางวีซ่าก็ dodgy จะด้วยความตั้งใจหรือได้รับคำแนะนำผิดๆคนเขียนไม่ทราบ รวมถึงประวัติส่วนตัว ที่คนเขียนเชื่อว่าถ้าออกไปแล้วจะไม่ได้กลับเข้ามา

4 ปี ผ่านไป ลูกความติดต่อมาขอ Consultation รอบที่ 2 … ปรากฏว่าตอนนี้กลับประเทศตัวเองไปแล้ว …..

What!  Why?

…. ก็แนะนำแล้วว่าไม่ให้กลับ ให้ยื่น Onshore = ยื่นในประเทศออสเตรเลีย

ลูกความบอกว่าขอโทษนะที่ตอนนั้นไม่เชื่อยู หลังจากที่คุยกันเสร็จ เอาไปเล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนแนะนำคนอื่นที่เป็นคนชาติเดียวกันให้ เลยใช้บริการเค้าแทน ถูกเรียกเก็บเงินตลอดแล้วไม่ทำอะไรให้เลย …..  4 ปีผ่านไป คนนี้ก็แนะนำให้กลับออกไปยื่น Offshore Partner visa บอกว่าง่ายและเร็ว นี่กลับมาประเทศตัวเองได้หลายเดือนแล้ว เงินก็โอนไปแล้ว เค้ายังไม่ได้ยื่นวีซ่าให้ แถมติดต่อไม่ได้ด้วย

เคสนี้มีตั้งแต่การอยู่เกินวีซ่า เปลี่ยนชื่อกลับมาใหม่ ไม่แจ้งชื่อเดิม ยื่นสาระพัดวีซ่า รวมถึง Protection visa ยื่นเอกสารปลอม อยู่เกินวีซ่าต่ออีก 10 กว่าปี ที่สำคัญมีประวัติคดีอาญาร้ายแรง ประเภทที่อิมมิเกรชั่นจะต้องปฏิเสธวีซ่า ยกเว้นว่าจะมีเหตุผลน่าเห็นใจ ….. (ประวัติทางวีซ่าโชกโชนขนาดนี้ ความเห็นใจของอิมมิเกรชั่นจะมีเหลืออยู่แค่ไหน ….. แถมตอนนี้ลูกความอยู่นอกออสเตรเลีย เหตุผลหลายๆอย่างที่อาจจะเอามาใช้ได้ ถ้าลูกความอยู่ในออสเตรเลียก็หายไปด้วย) …. เพราะฉะนั้นยื่น Offshore ไม่มีทางง่ายและเร็ว ….. มีความเป็นไปได้สูงมากที่อาจจะไม่ได้กลับเข้ามาอีกนาน หรืออาจจะไม่ได้กลับเข้ามาอีกเลย

คนเขียนบอกเลยว่าในบางเคส Offshore is NOT an option!  และการพยายามหาทางให้ลูกความอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียต่อ ง่ายกว่าการพยายามเอาลูกความกลับมานะคะ

 

เคสที่ 2

Initial Consultation …. ลูกความไม่ถือวีซ่า ติด section 48 บาร์ด้วย ทางเลือกสำหรับทำพีอาร์ไม่มี คนเขียนคิดว่ากลับไทยติดบาร์ 3 ปีน่าจะดีกว่า ดูประวัติแล้ว หลังบาร์ 3 ปี น่าจะมีโอกาสได้กลับมา

7 ปีผ่านไป ลูกความติดต่อมาขอ Consultation รอบ 2 …… ปรากฏว่าตอนนี้ก็ยังอยู่ที่นี่ เชื่อเพื่อนและนายหน้ายื่น Protection visa ไปเรียบร้อย จากนั้นก็ไปอ่านเจอจากหลายแหล่ง รวมถึง VisaBlog ของคนเขียนด้วยว่าไม่ควรยื่น Protection visa ตอนนี้เริ่มกังวลกับผลเสียที่จะตามมา

คนเขียนก็งงกับเคสนี้นะคะ จะว่าไฺม่เคยรู้จักคนเขียนมาก่อนก็ไม่ใช่ เพราะเคยนัดปรึกษากันมาแล้ว แทนที่จะปรึกษาว่าควรหรือไม่ควรยื่น Protection visa ก่อนยื่น ก็ไม่ทำ …… ยื่นไปแล้ว ค่อยมากังวล ค่อยมาหาคำปรึกษา …. ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าน้องคิดอะไร

 

เคสที่ 3

Initial Consultation ….. เคส Partner visa เป็นเคสที่ตรงไปตรงมา ไม่ได้มีประเด็นซีเรียสอะไรที่น่ากังวล แต่คนเขียนก็อธิบายเงื่อนไข Requirements ของ Partner visa และบอกจุดที่ควรระวังให้ทราบ น้องถามว่า
ถาม …… จำเป็นต้องใช้บริการคนเขียนไหม
ตอบ ….. น้องต้องถามตัวเองว่าเข้าใจกฏหมาย เงื่อนไข เอกสาร หลักฐาน ของการทำ Partner visa แค่ไหน แต่ละคนก็มีขีดความสามารถแตกต่างกันไป คนที่ทำเองแล้วผ่านก็เยอะแยะ คนที่ทำเองแล้วถูกปฏิเสธก็มี เคสที่มาให้คนเขียนทำอุทธรณ์ให้ก็เยอะ
ถาม …… ถ้าน้องจะทำเคสเอง และเสียค่าปรึกษาเพื่อขอคำแนะนำเป็นระยะๆ และให้คนเขียนตรวจเช็คเอกสารให้ก่อนยื่นล่ะ
ตอบ ….. ไม่มีบริการนี้ค่ะ สำหรับคนเขียนมีแค่ 2 ทาง ทำเคส หรือไม่ทำเคส  เคส Partner visa เหมือนกัน แต่ Strategy (แผนการทำงาน) ของแต่ละเคสไม่เหมือนกัน เคสที่ไม่มีประเด็นซีเรียส ไม่ได้แปลว่าไม่มีจุดที่ควรระวัง บางเคสเราเห็นปัญหาระหว่างการเตรียมยื่น และการตัดสินใจยื่นหรือไม่ยื่นเอกสารบางชิ้น นำเสนอหรือไม่นำเสนอข้อมูลบางอย่างเป็นอะไรที่ต้องคิด ต้องตัดสินใจทั้งนั้น  สำหรับคนเขียน Quality control เป็นเรื่องสำคัญ และเคสที่มาให้ดูแลแบบครึ่งๆกลางๆเป็นอะไรที่ Control ยากมาก

 

ลูกความตัดสินใจทำเคสเอง

…… 2 ปีผ่านไป ลูกความขอนัด Consultation รอบ 2 … ส่งคำตัดสินปฏิเสธ Partner visa มาให้อ่าน พลาดไปกับการเลือกเอกสารพิสูจน์ความสัมพันธ์

 

เคสที่ 4

Initial Consultation …. ลูกความเลิกกับแฟนคนเดิม มีแฟนคนใหม่ คนเขียนแนะนำวีซ่าที่คิดว่าเหมาะสมให้ และแนะนำให้ Declare ข้อมูลกับอิมมิเกรชั่น เคสนี้ลูกความอยู่ในจุดที่ไม่มีหน้าที่ต้อง Declare  แต่สำหรับเคสนี้ Strategically แล้ว ลูกความควร Declare

ลูกความหายไป 2 ปีกว่า ขอนัด Consultation รอบ 2 เคสถูกปฏิเสธเพราะประเด็นนี้เลย ถามว่าแนะนำแล้วทำไมถึงไม่ทำ ลูกความบอกว่ายื่นวีซ่าที่คนเขียนแนะนำ แต่ให้เอเจนต์อีกคนดูแลเคสและยื่นวีซ่าให้ ซึ่งเอเจนต์บอกว่าไม่มีหน้าที่ต้อง Declare ก็ไม่ต้อง Declare ก็เลยทำตามที่เอเจนต์แนะนำ ……

ทนาย และเอเจนต์แต่ละคนก็มีสไตล์การทำงาน และ Strategy (แผนการทำงาน) ของแต่ละเคสแตกต่างกันไปนะคะ ชอบสไตล์การทำงานแบบไหน ชอบ Strategy ของใคร ใช้บริการคนนั้น  คนที่วาง Strategy ให้ โดยปกติก็จะมีแพลนอยู่ในหัวแล้ว (หวังว่านะ) ว่ารายละเอียดและสเต็ปการเดินเคส รวมถึงการยื่นเอกสารควรจะเป็นแบบไหนและเพราะอะไร และถ้าอะไรบางอย่างเกิดขึ้นระหว่างทาง จะเดินเคสต่อยังไง

 

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

Blog: https://visablog.weebly.com