Home / 186 visa / แชร์ประสบการณ์ นายจ้างถูกลงตรวจ กระทบลูกจ้างไหม
single

แชร์ประสบการณ์ นายจ้างถูกลงตรวจ กระทบลูกจ้างไหม

 

วันนี้คนเขียนมาแชร์ประสบการณ์ เกี่ยวกับวีซ่าแบบมีนายจ้างสปอนเซอร์ เช่น 457 482 494 186 และ 187

          Q: 187 ??? – วีซ่าตัวนี้ไม่มีแล้วไม่ใช่เหรอ
          A: ยังทำได้ สำหรับคนกลุ่มเล็กๆที่ถือวีซ่า 457 หรือ 482

 

ประวัตินายจ้างสำคัญไหม – สำคัญมากค่ะ ไม่ว่าจะก่อนยื่น หรือหลังจากลูกจ้างได้วีซ่าแล้ว ถ้าอนาคตจะมีการสปอนเซอร์คนอื่นต่อ หรือจะมีการสปอนเซอร์ลูกจ้างที่ถือ Temporary visa เพื่อต่อยอดไปเป็นพีอาร์

 

เคสที่คนเขียนจะแชร์วันนี้เป็นเคสที่นายจ้างถูกอิมมิเกรชั่นลงตรวจหลังจากที่มีการสปอนเซอร์ลูกจ้างไปแล้ว 2 คน (ไม่ได้แปลว่าถ้าสปอนเซอร์แค่คนเดียวจะไม่ถูกลงตรวจ อยู่ที่นายจ้างไหนจะเจอแจ๊คพอต) …. เกิดอะไรขึ้น

1. อิมมิเกรชั่นเจอว่านายจ้างมีการแต่งตั้ง Director ใหม่ แล้วไม่ได้แจ้งให้อิมมิเกรชั่นทราบภายในเวลาที่กฏหมายกำหนด

          Q: มีต้องแจ้งด้วยเหรอ
          A: มีค่ะ ต้องแจ้งภายใน 28 วัน … จริงๆ นายจ้างมีหน้าที่อย่างอื่นอีกหลายอย่าง

2. อิมมิเกรชั่นสัมภาษณ์พนักงานในร้าน รวมถึงลูกจ้างที่ได้รับการสปอนเซอร์ แล้วพบว่าลูกจ้างทำงานนอกเหนือหน้าที่ที่ได้รับการสปอนเซอร์ ….. [เช่น จ้างมาเป็น Backpacker Manager แต่มาช่วยทำความสะอาดห้องพัก ช่วยเก็บขยะ หรือจ้างมาเป็นพนักงานนวด เป็น Chef หรือ Cook แต่มาช่วยทำบัญชีร้าน] ….. น้องๆที่คิดว่าเราทำได้หลายอย่าง เราทำเกินหน้าที่ ดูดีมากๆเลย …… ขอบอกว่าไม่จริง

เคสนี้นายจ้าง

          1) ถูกปรับ และ

          2) ถูกห้ามสปอนเซอร์พนักงานเพิ่ม

 

นายจ้างและลูกจ้าง1 ยื่นขอพีอาร์วีซ่า 186 คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะไม่ได้สปอนเซอร์พนักงานเพิ่ม แต่เป็นการสปอนเซอร์พนักงานเดิมเพื่อเป็นพีอาร์ …. เกิดอะไรขึ้น ????

นายจ้างถูกปฏิเสธ 186 Nomination เพราะประวัติที่ถูกลงตรวจและถูกลงโทษจากอิมมิเกรชั่น …… แปลว่าวีซ่า 186 ของลูกจ้างก็ถูกปฏิเสธไปด้วย

 

ลูกจ้าง1 ติดต่อนัดปรึกษากับคนเขียน ถามว่าทำยังไงดี …. คนเขียนก็แนะนำทั้งส่วนการยื่นอุทธรณ์และการยื่นใบสมัครใหม่ไปที่อิมมิเกรชั่น พร้อมกับแจ้งว่าตัดสินใจโดยเร็ว อุทธรณ์มีระยะเวลาจำกัด และน่าจะมีกฏหมายเปลี่ยนเร็วๆนี้ ซึ่งจะกระทบกับเคส หากต้องการจะยื่นใหม่

 

ลูกจ้าง2 ซึ่งทำงานครบตามที่กฏหมายกำหนด และพร้อมจะยื่นวีซ่าพีอาร์ 186 ….. เมื่อเห็น Nomination & 186 visa applications ของเพื่อนถูกปฏิเสธเพราะนายจ้างมีประวัติถูกอิมมิเกรชั่นลงโทษ ก็เริ่มกังวลบ้าง เพราะตัวเองก็จะต้องใช้นายจ้างคนเดียวกัน …. ขอนัดปรึกษากับคนเขียนบ้าง ซึ่งได้รับคำแนะนำว่า

1. ก็ควรกังวลจริงๆแหละ เพราะแนวทางที่อิมมิเกรชั่นจะพิจารณาเคสของเพื่อนกับของน้องลูกจ้าง2 ก็ไม่ต่างกัน ประวัตินายจ้างมีผลกระทบกับเคสแน่ๆ

2. แต่ ….. เคสเพื่อนที่ถูกปฏิเสธ (ซึ่งคนเขียนไม่ได้เป็นคนทำเคส) จากที่อ่านคำตัดสิน อ่านเอกสารอื่น และซักถามเพิ่มเติม คนเขียนเชื่อว่ามีข้อโต้เถียงบางอย่างที่น่าจะช่วยเคส แต่เคสเพื่อนไม่ได้เอามาใช้ …. สรุปสั้นๆ คือถ้าคนเขียนเป็นคนทำเคส ก็จะเอาข้อโต้เถียงที่ว่ามาใช้ …. ตอบไม่ได้หรอกว่าเคสจะรอดหรือไม่ … ไม่ลองไม่รู้

3. ถ้าไม่ต้องการเสี่ยงกับนายจ้างนี้ ก็ ….เริ่มใหม่ …. หานายจ้างใหม่ เสียเงินทำ sponsorship & visa กันใหม่ ถ้านายจ้างใหม่ยอมทำ 186 Direct Entry ให้เลย ก็โชคดีไป ถ้าไม่ยอม ก็ทำงานใน Temporary visa ไป จนกว่านายจ้างจะยอมสปอนเซอร์เป็นพีอาร์

 

น้องใช้เวลาคิดอยู่ 1 วัน ก่อนจะติดต่อกลับมาให้คนเขียนทำเคสให้  ใช้นายจ้างเดิม …. เสี่ยงเป็นเสี่ยง

เกิดอะไรขึ้นกับเคสลูกจ้าง2 …. คนเขียนทำสรุปประเด็นข้อกฏหมาย และโน้มน้าวอิมมิเกรชั่นว่าทำไมควรจะให้เคสนี้ผ่าน รวมถึงเหตุผลที่เคสลูกจ้าง1 ไม่ได้นำมาใช้ แต่คนเขียนคิดว่าสำคัญมากและควรนำมาใช้ (คนเขียนพูดเสมอว่าทนายความและเอเจนต์แต่ละคน มีวิธีการเก็บรายละเอียด มุมมองและแนวทางการทำเคส แตกต่างกันไป …. Strategy การทำเคสของแต่ละคน ไม่เหมือนกัน) ….. เคสนี้ คนเขียนเลือกที่จะเปิดประเด็นเลย ไม่รออิมมิเกรชั่นถาม

ผ่านไหม ….. ผ่านสิ …. ประเด็นนายจ้างมีประวัติ จบด้วยจดหมายฉบับเดียวที่คนเขียนทำสรุปเข้าไปนั่นแหละ (แต่อย่าคิดว่าจดหมายฉบับเดียว ใช้เวลานิดเดียวนะคะ กว่าจดหมายจะคลอด ใช้เวลาอ่านเอกสารเดิม เอกสารใหม่ และทำ Research เป็นร้อยหน้า)

 

ย้อนกลับมาที่ลูกจ้าง1 …… น้องหายไป 3 – 4 เดือน จนในที่สุดกฏเปลี่ยนก็ประกาศออกมา มีเวลา 2 อาทิตย์ก่อนกฏหมายใหม่จะปรับใช้ …. น้องติดต่อมาหาคนเขียน จะให้ทำเคสให้ ยินดีชำระค่าบริการเพิ่มสำหรับเคสด่วน ……. ไม่ทันแล้วค่ะ

          Q: ทำไมถึงช่วยไม่ได้ 2 อาทิตย์ไม่พอเหรอ
          A: 2 อาทิตย์พอค่ะ ถ้าสามารถทุ่มเวลาให้กับเคสน้องเคสเดียว …. แต่ความจริง ไม่ได้เป็นแบบนั้น

ทุกคนที่เซ็นสัญญาการทำงานกับคนเขียน ก็อยากให้เคสของตัวเองออกมาดีๆกันทั้งนั้น เมื่อรับงาน คนเขียนจะมีตารางการทำงานของแต่ละเคสชัดเจน ถ้ารับงานเพิ่มแล้วจะกระทบเคสของน้องๆที่เซ็นสัญญาการทำงานกับคนเขียนไว้ก่อนแล้ว ต่อให้อยากรับ ก็รับไม่ได้

 

เคสนายจ้างมีประวัติ ระวังให้มาก โอกาสเคสผ่านก็มี โอกาสเคสไม่ผ่านก็สูง และไม่ต้องมานัวๆคิดว่าอิมมิเกรชั่นอาจจะไม่เอาประวัตินายจ้างมาพิจารณา ….. เพราะอยู่ในลิสที่ต้องพิจารณา ยังไงก็ต้องพิจารณา อยู่ที่ว่าเราจะหาเหตุผลอะไร มาช่วยเคสเท่านั้นเอง

และจากตัวอย่างเคสนี้ อยากจะบอกว่านายจ้างมีประวัติคนเดียวกัน Nomination เคสนึงถูกปฏิเสธ ไม่ได้แปลว่า Nomination อีกเคสจะต้องถูกปฏิเสธด้วย ถ้าเริ่มต้นการทำเคสด้วยความระมัดระวัง และคิดรอบด้าน โอกาสที่จะผ่านก็มี

 

ย้อนกลับมาที่นายจ้าง ตอนถูกอิมมิเกรชั่นลงตรวจ ….. อิมมิเกรชั่นไม่ใช่ว่าพอเจออะไรไม่ถูกต้อง ก็จะหลับหูหลับตาลงโทษเลยนะคะ …. ให้โอกาสตอบว่าทำไมไม่ควรลงโทษ ให้โอกาสเราโน้วน้าวว่าทำไมควรผ่อนโทษหนักให้เป็นเบา …. ขึ้นอยู่กับเรา นายจ้าง และ/หรือทนายความ เอเจนต์แล้วค่ะว่าจะทำเคสยังไง

 

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

Blog: https://visablog.weebly.com